วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

KM : เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยนางสาวศรัณยา คำดี


1.ชื่อองค์ความรู้  เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
2.เจ้าของความรู้ นางสาวศรัณยา  คำดี
ตำแหน่ง/สังกัด   นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ  สังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองบัว
3.องค์ความรู้ที่บ่งชี้   หมวดที่ 2 เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
4.ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้
          กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  และมีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง เน้นการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้หลักการพัฒนาชุมชนซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน  เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างกลไกการจัดการปัญหา และสร้างกระบวนการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้านด้วยหลัก”พึ่งตนเอง” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้ายของการบริหารจัดการชุมชน คือ เสริมสร้างพลังชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาของชุมชน ประชาชนพึ่งตนเองได้
ครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดี มีความสุขสมบูรณ์ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่ผ่านมา พบว่า หลายหมู่บ้านไม่ได้ดำเนินการไปตามยุทธศาสตร์ของกรมการพัฒนาชุมชนและทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากผู้นำในหมู่บ้านและประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการบริหารจัดการชุมชนที่ดี         
5.ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา
          1.ผู้นำขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง
             แนวทางแก้ไข  ค้นหาปัญหาในหมู่บ้านว่าความยากจนเกิดจากสาเหตุอะไร และจัดฝึกอบรมแก่ผู้นำในชุมชนเรื่องการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ  และจัดกิจกรรมศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
          2.ประชาชนไม่มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
             แนวทางแก้ไข  ให้ผู้นำที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นพี่เลี้ยงในการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในหมู่บ้าน และมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เกี่ยวกับการแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
          3.กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยมากเป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุ
             แนวทางแก้ไข  ประสานโรงเรียนหรือ กศน.ในการให้ความรู้เกี่ยวกับการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน เพื่อเป็นอีกแนวทางในการสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม
6.ประโยชน์ขององค์ความรู้
          -เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมีบริบทหมู่บ้านที่แตกต่างกันไป  ซึ่งองค์ความรู้นี้อาจมีส่วนช่วยในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้บรรลุสู่วัตถุประสงค์ได้
7.เทคนิคในการปฏิบัติงาน
            -  การทำงานแบบบูรณาการงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
-  การเรียนรู้และกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ก่อให้เกิดชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
           -  กระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ต้องเกิดจากความต้องการของประชาชนในการร่วมคิด/วิเคราะห์ ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ และร่วมรับผลประโยชน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น