วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

KM : ขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนด้วยพลัง อช. โดยนางขวัญสุดา โลหะเวช


1.ชื่อองค์ความรู้        ขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืนด้วยพลัง อช.
2.ชื่อเจ้าของความรู้      นางขวัญสุดา โลหะเวช ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
          สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์
3.องค์ความรู้ที่บ่งชี้       เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
4.ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้
การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกระบวนการจัดการพัฒนาประชาชน พัฒนาหมู่บ้าน หรือชุมชน ให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นสังคม“อยู่เย็น เป็นสุข” ด้วยการน้อมนำปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทาง ในการดำเนินงาน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นการพัฒนาชนบท โดยนำแนวทางการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาใช้ เพื่อเป็นตัวแบบหรือแนวทางให้กับหน่วยงาน หมู่บ้าน หรือชุมชน ประชาชน นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานในพื้นที่ ด้วยการประสานพลังระหว่างภาคี หรือพลัง ประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชน ในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากแนวคิดการบูรณาการ ในด้านต่างๆ นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อช่วยเหลือตนเอง และพึ่งตนเองได้ ซึ่งในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับพื้นที่นั้น มีพัฒนากรทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดกลไก และกระบวนการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม และเกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย และตัวชี้วัดที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด ซึ่งสอดคล้องกับตัวชี้วัดของกระทรวงมหาดไทยที่มุ่งจะให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจ พอเพียงให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบ ที่มีศักยภาพใน 4 ด้าน 32 ตัวชี้วัด

         
5. ปัญหาที่ค้นพบและแนวทางการแก้ไขปัญหา
                    การดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นภารกิจที่ต้องพัฒนารอบด้านตามตัวชี้วัดในระดับหมู่บ้าน การทำงานในบางครั้งต้องประสบกับข้อจำกัด และเงื่อนไขที่ทำให้งานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งปัญหาที่มักพบบ่อย คือ
- ข้อจำกัดเรื่องของพัฒนากรมีระยะเวลาในการทำงานจำกัด มีภารกิจต้องรับผิดชอบมากมาย
- ภาคีเครือข่ายขาดความร่วมมือในการทำงาน
- การพัฒนาให้ได้ผลลัพธ์ตามตัวชี้วัดเป็นไปได้ยาก
- หมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแล้วขาดความยั่งยืน   

แนวทางการแก้ไขปัญหาคือ การสร้างกลไกการทำงานหลักเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับหมู่บ้าน ได้แก่ การเสริมพลังให้ อช. เป็นผู้ขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการดังนี้
1) ประชุมทีม อช.ในหมู่บ้านที่จะพัฒนา เพื่อดำเนินการ
- สร้างความรู้ ความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่กรมกำหนด ตลอดจน ทำความเข้าใจตัวชี้วัดต่างๆ ที่จะวัดระดับการพัฒนาหมู่บ้านฯ เพื่อให้เห็นภารกิจที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจน
- เสริมทักษะการเป็นนักบริหารจัดการชุมชน เช่น การสื่อสารกับผู้คน การจัดเวทีประชาคม เป็นต้น
- เสริมทัศนคติเชิงบวกต่อหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงใจในการทำงาน
2) มอบหมายภารกิจให้ อช. มีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ และในบางกระบวนการอาจทำหน้าที่เป็นแกนนำในการปฏิบัติ ดังนี้
- ร่วมการประชุมประชาคมกับผู้นำในหมู่บ้าน และและประชาชน ทำหน้าที่ในการอธิบายสร้างความเข้าใจ และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย  
- มีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
- ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำแผนชีวิต  เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาครัวเรือนและแผนพัฒนาหมู่บ้าน
- ติดตามและสนับสนุนให้กำลังใจครัวเรือนต้นแบบ ให้ดำรงชีวิตโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- ร่วมสรุปผลการดำเนินงาน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
3) ติดตามสนับสนุน ให้กำลังใจ เสริมพลังเชิงบวกในการทำหน้าที่ให้กับ อช. อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนประเมินผลการทำงานด้วยการสอบถามความก้าวหน้าในภารกิจที่มอบหมาย ผ่านช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย เช่น ประชุม โทรศัพท์ ตั้งกลุ่มไลน์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น
4) เผยแพร่ภาพการทำงานของ อช. ให้เป็นที่รับรู้ และเป็นผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญ เสมือนเป็นเงาของพัฒนากร
         
6.ประโยชน์ขององค์ความรู้
                    1. เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
                   2. เป็นการน้อมนำหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน

7.เทคนิคในการปฏิบัติงาน
                    1) สร้างกลไกการทำงานที่มีประสิทธิในการทำงานในพื้นที่ ในที่นี้ผู้เขียนเลือก อช. มาเป็นกลไกในการทำงาน เพราะผู้นำอย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีภารกิจมากมายล้นหลาม อาจทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจได้ไม่เต็มที่
                    2) การมอบหมายภารกิจ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาปฏิบัติการตามแผนที่ชัดเจนให้กับกลไก จะช่วยให้งานมีความก้าวหน้า และลดภาระการทำงานให้พัฒนากรได้
                    3) การสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมาย มีส่วนช่วยให้เกิดการทำงานด้วยความมุ่งมั่น
                    4) พัฒนากรต้องมีระบบการติดตามสนับสนุนที่หลากหลาย เน้นการให้กำลังใจ
                    5) ให้กลไกเป็นแกนนำการพัฒนาอย่างยั่งยืน การมีกลไกการทำงานพื้นที่ คือการพัฒนาชุมชน ด้วยคนในชุมชน แม้ว่าพัฒนากรจะเปลี่ยนคน ภารกิจที่ดำเนินการก็ยังคงขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพราะแกนนำการพัฒนาเห็นความสำคัญ ไม่รอการขับเคลื่อนโดยบุคคลภายนอก
                    6) การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของ อช มีผลต่อความรู้สึกภาคภูมิใจของผู้ปฏิบัติงาน และสร้างการรับรู้ว่า อช. คือบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนงานได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น