วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

KM : 6 ขั้นตอนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน โดยนางสาววิมลรัตน์ ศรีผง


๑.  ชื่อองค์ความรู้  6 ขั้นตอน การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “พออยู่  พอกิน”
2.  ชื่อเจ้าขององค์ความรู้  นางสาววิมลรัตน์  ศรีผง
     ตำแหน่งนักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
     สังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์
3.  องค์ความรู้ที่บ่งชี้     หมวดที่ 2  เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
4.  ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้
                   เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกันตัวเอง(Self Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น ซึ่งต้องสร้างพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อน มีความพอกินพอใช้สามารถพึ่งตนเองได้ ย่อมสามารถ สร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยดำเนินการในลักษณะของการส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้เกณฑ์ชี้วัด 6 ด้าน ประกอบด้วย การลดรายจ่าย การเพิ่มรายได้ การออม การดำรงชีวิต การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเอื้ออาทร
                   โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการส่งเสริมการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้านให้มีระบบการบริหารจัดการชุมชนแบบบูรณาการที่เข้มแข็ง และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคงโดยดำเนินกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการสร้างและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ สร้างระบบการบริหารจัดการชุมชน และประเมินผลการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยเกณฑ์ชี้วัด 4 ด้าน 23 ตัวชี้วัด และประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน Gross Village Happiness : GVH ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2

5.  ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา
     ปัญหาที่พบ           ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมไม่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน
     แนวทางการแก้ไข    ศึกษากระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม ปรับระยะเวลาดำเนินการตามบริบทของชุมชน   เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
6. ประโยชน์ขององค์ความรู้
๑)  มีกระบวนการปฏิบัติงาน สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒)  สร้างความรู้ ความเข้าใจการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนในหมู่บ้านได้เข้าใจเพื่อให้ครอบครัวที่มีความพร้อมสมัครใจเข้าสู่การเรียนรู้ สามารถพัฒนาตนเองและเป็นแบบอย่างที่ดีได้
3)  ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ประชาชนในหมู่บ้านได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาทุกขั้นตอน
4)  มีหน่วยงานภาคีการพัฒนาสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้าน/ชุมชน ตามความต้องการของประชาชน

7.  เทคนิคในการปฏิบัติงาน
          มีกระบวนการในการทำงาน และกำหนดเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักการพัฒนาชุมนและกระบวนการพัฒนา 6 ขั้นตอน ดังนี้
          1. การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน เพื่อประเมินศักยภาพหมู่บ้านชุมชนโดยการวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อชุมชน
          2. กำหนดเป้าหมายหรือทิศทางการพัฒนาของหมู่บ้านชุมชน และวางแผนการพัฒนาร่วมกับคนในชุมชน
          3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมเช่น สาธิตการทำน้ำยาเอนกประสงค์ การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน  สาธิตการทำอาชีพพริกแก่ง เพื่อเพิ่มรายได้ครัวเรือน เป็นต้น
          4. ดำเนินการติดตามความก้าวหน้า ให้การสนับสนุนครัวเรือนต้นแบบตามแผนงานที่วางไว้
          5. การจัดกิจกรรมการพัฒนาร่วมกับกลุ่มองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนต่างๆ
          6. ประเมินผลการพัฒนา ทบทวนผลการดำเนินงานร่วมกับคนในชุมชน มีการจัดเก็บข้อมูล และบันทึกเป็นชุดองค์ความรู้เชิงประสบการณ์ ของหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อนำมาใช้ในการยกระดับการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น