วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KM : การส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก


เรื่อง   การส่งเสริมสนับสนุนการบริหารจัดการศูนย์บริหารส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก
ชื่อ – นามสกุล                     นางสุมิตรา  บุญโสดากร
ตำแหน่ง                                พัฒนาการอำเภอโกรกพระ
สังกัด                                     สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโกรกพระ  จังหวัดนครสวรรค์
ความเป็นมา
                รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโครงการอันเกิดจากศักยภาพของชุมชน  และก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน  โดยการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ท้องถิ่นและจังหวัด  เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการของสมาชิก กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)  กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี  รวมทั้งกองทุนต่างๆ ในหมู่บ้าน/ชุมชน  เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาอาชีพ  โดยสนับสนุนองค์ความรู้ การเข้าถึงแหล่งทุน  การพัฒนาขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการในการประกอบอาชีพ  สำหรับสร้างงาน สร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่ชุมชน  เพื่อส่งผลต่อประชาชนในหมู่บ้านให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

                ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก หมายถึง ศูนย์กลางการให้บริการทางวิชาการ  และพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน  โดยเป็นช่องทางในการเชื่อมต่อการใช้ทรัพยากรจากแหล่งทุน แหล่งผลิต แหล่งตลาด แหล่งความรู้ทั้งภาครัฐและเอกชน  เป็นกลไกขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ  เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน
                สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอโกรกพระ  ได้จัดตั้งศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  เพื่อให้บริการแก่บุคคล กลุ่ม/องค์กร และกองทุนต่างๆ ในชุมชน  โดยบริการใน ๒ ลักษณะ  คือ การให้บริการ ณ ที่ตั้งศูนย์ฯ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ) และการให้บริการนอกศูนย์ฯ เช่น การให้บริการกับหน่วยอำเภอยิ้มเคลื่อนที่  จังหวัดเคลื่อนที่ และร่วมกับกิจกรรมอื่นๆของอำเภอ/จังหวัด  โดยการบริหารจัดการและให้บริการในรูปคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนเครือข่ายกองทุนชุมชน ผู้แทนเครือข่าย OTOP แกนนำชุมชน  ปราชญ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน
บันทึกขุมความรู้
๑.      ศึกษาแนวทางการดำเนินงานศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน
๒.    จัดทำโครงสร้างคณะกรรมการฯ  ที่ปรึกษา
๓.     จัดเก็บข้อมูลกลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP
๔.     วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการด้านอาชีพ และศักยภาพการพัฒนา

แก่นความรู้
๑.      ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทีมงานพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่ายและผู้นำกลุ่ม/องค์กรที่เกี่ยวข้อง
๒.    จัดประชุมตัวแทนกลุ่ม/องค์กร คัดเลือกคณะกรรมการบริหาร กำหนดบทบาทที่ชัดเจน
๓.     จัดทำมีระเบียบข้อบังคับของศูนย์ฯ
๔.     จัดทำแผนงาน/โครงการในการขับเคลื่อนกิจกรรมของศูนย์ฯ
๕.     รวบรวมข้อมูล องค์ความรู้ จัดระบบคลังความรู้ ปราชญ์ชาวบ้าน
๖.      จัดทำเอกสารสรุปความรู้ในด้านอาชีพ การบริหารจัดการกองทุนฯ และจัดทำเอกสารเผยแพร่ความรู้ในแต่ละงาน
๗.     จัดทำเว็บไซด์เผยแพร่และประชาสัมพันธ์การดำเนินงาน
เทคนิคที่ทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ
๑.      คณะกรรมการฯ มีความรู้ความเข้าใจถึงแนวทาง บทบาทภารกิจ เป้าหมายและความสำคัญของศูนย์ฯ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่รับผิดชอบได้
๒.    คณะกรรมการมีความเสียสละ และเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่เสมอ
๓.     มีการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อรายงานปัญหาและความก้าวหน้าในการดำเนินงานของศูนย์และทบทวนแผนงาน/โครงการว่ามีโครงการ/กิจกรรมใดที่ดำเนินการสำเร็จแล้ว กิจกรรมใดที่ยังไม่ดำเนินการและปัญหาในการดำเนินงานมีอะไรบ้าง ใครช่วยได้
๔.     มีสถานที่และระบบข้อมูลที่สามารถให้บริการ และตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ
๕.     มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ในการดำเนินงาน
๑.      มีการค้นหาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและผู้รับบริการ
๒.    มีปราชญ์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายได้
๓.     มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ
๔.     จัดให้มีกิจกรรมเชิดชูเกียรติ/รางวัลแก่คณะกรรมการฯ  ที่สามารถให้บริการได้อย่างยอดเยี่ยม
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
๑.      มีระบบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและทันสมัย
๒.    บริการด้วยท่าทีที่เป็นมิตร

๓.     มีการติดตามและประเมินผลการให้บริการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น