วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KM : แนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านมหาโพธิเหนือ โดยนางวรรณรวี วรรณชาติ

“แนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน
โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านมหาโพธิเหนือ”
เจ้าขององค์ความรู้ : นางวรรณรวี  วรรณชาติ
ตำแหน่ง
: พัฒนาการอำเภอเก้าเลี้ยว
สังกัด : สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเก้าเลี้ยว
          แนวทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย (Modernization) ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงมีความสลับซับซ้อนจนยากที่จะอธิบายใน เชิงสาเหตุและผลลัพธ์ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดต่างเป็นปัจจัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน

          สำหรับผลของการพัฒนาในด้านบวกนั้น ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบสื่อสารที่ทันสมัย หรือการขยายปริมาณและกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ผลด้านบวกเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายไปถึงคนในชนบท หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคมน้อย แต่ว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดผลลบติดตามมาด้วย เช่น การขยายตัวของรัฐเข้าไปในชนบท ได้ส่งผลให้ชนบทเกิดความอ่อนแอในหลายด้าน ทั้งการต้องพึ่งพิงตลาดและพ่อค้าคนกลางในการสั่งสินค้าทุน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ และการรวมกลุ่มกันตามประเพณีเพื่อการจัดการทรัพยากรที่เคยมีอยู่แต่เดิมแตก สลายลง ภูมิความรู้ที่เคยใช้แก้ปัญหาและสั่งสมปรับเปลี่ยนกันมาถูกลืมเลือนและเริ่ม สูญหายไป สิ่งสำคัญ ก็คือ ความพอเพียงในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่ทำให้คนไทยสามารถพึ่งตนเอง และดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีภายใต้อำนาจและความมีอิสระในการกำหนด ชะตาชีวิตของตนเอง ความสามารถในการควบคุมและจัดการเพื่อให้ตนเองได้รับการสนองตอบต่อความต้อง การต่างๆ รวมทั้งความสามารถในการจัดการปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นศักยภาพพื้นฐานที่คนไทยและสังคมไทยเคยมีอยู่แต่เดิม ต้องถูกกระทบกระเทือน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจจากปัญหาฟองสบู่และปัญหาความอ่อนแอของชนบท รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ล้วนแต่เป็นข้อพิสูจน์และยืนยันปรากฏการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี
          หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัส ที่แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ทรงชี้ถึงการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน "ทางสายกลาง" โดยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใจความสำคัญว่า "... ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้นเริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัด ระมัดระวังแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยเสริมสร้างความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและประหยัดนั้นก็เพื่อป้องกันการผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์..." (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550)
          ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการส่งเสริมการดำเนินชีวิต ทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับหมู่บ้าน ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2549 และสนับสนุนหมู่บ้านที่มีความพร้อมพัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบตั้งแต่ปี 2552 ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ดังนี้
          1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น เช่นการผลิต และการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณเป็นต้น
          2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
          3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้ และไกล
          การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน 2 เงื่อนไข ดังนี้
          เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
          เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต นำไปสู่ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ที่สมดุลพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง
          ซึ่งหมู่บ้านและชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นหมู่บ้าน "อยู่เย็นเป็นสุข" ตามยุทธศาสตร์ของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งยึดหลักตามแนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 เมื่อดำเนินการแล้ว จะต้องเป็นหมู่บ้านและชุมชน 3 ไม่ 2 มี คือ ไม่มียาเสพติด ไม่มีคนยากจน ไม่มีหนี้นอกระบบ มีสวัสดิการชุมชน มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมการพัฒนาชุมชน, 2558)
          บ้านมหาโพธิเหนือ หมู่ที่ 5 ตำบลมหาโพธิ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับ พออยู่ พอกินปีงบประมาณ 2555
          มีขั้นตอนการขับเคลื่อนกิจกรรมตามโครงการฯ ดังนี้
          ๑. ประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมครอบครัวพัฒนา จำนวน ๓๐ ครัวเรือน ด้วยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการการเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง ประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาและศึกษาดูงานการดำรงชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
          ๒. ประชุมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้ตนเองและกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการฝึกปฏิบัติการจัดทำแผนชีวิตของครัวเรือนตัวอย่าง ๓๐ ครัวเรือน
          ๓. ประชุมเชิงปฏิบัติการ/สาธิตกิจกรรมลดรายจ่าย ในการดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงระดับพออยู่ พอกิน
                   - สาธิตกิจกรรมลดรายจ่าย โดยการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงกบ และการปลูกผักสวนครัว
          ๔. ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างระบบการบริหารจัดการชุมชนและการเรียนรู้เรื่อง การพัฒนาประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการสร้างความสมานฉันท์สามัคคีของหมู่บ้าน
          ๕. ประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการความรู้ วิธีการปฏิบัติการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อติดตามและประเมินผลความสุขมวลรวมของชุมชนและการจัดการความรู้
          ทักษะที่ต้องมี และนำไปใช้ : การเป็นวิทยากรกระบวนการ ความรู้เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านท่าดินแดง มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์ สถานการณ์ ของชุมชน การมองปัญหาและการค้นหาปัญหาอย่าง รอบด้าน และทักษะในการประยุกต์ใช้วัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในการดำเนินการ การโน้มน้าวและการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาชุมชนของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยแนวทางและกระบวนการของนักจัดการความรู้การเล่าเรื่องราวจากอดีต ปัจจุบันและความคาดหวังที่จะให้เกิดขึ้นในอนาคต
          ในการดำเนินการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับ พออยู่ พอกินบ้านมหาโพธิเหนือ หมู่ที่ 5 ตำบลมหาโพธิ  มีองค์กรต่างๆที่มีส่วนร่วม ประกอบด้วย
          ๑. องค์การบริหารส่วนตำบลมหาโพธิ
          ๒. เกษตรประจำตำบลมหาโพธิ
          3. กศน.ประจำตำบลมหาโพธิ
          4. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเก้าเลี้ยว
          เทคนิคในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านมหาโพธิเหนือ
          ๑. มีการพัฒนาหมู่บ้าน โดยการขับเคลื่อนของคณะกรรมการหมู่บ้าน ครัวเรือนต้นแบบ และการประสานความร่วมมือของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน
          ๒. การขอรับการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณ หรือด้านวิชาการ การมีวิสัยทัศน์ในการทำงานของคณะกรรมการ
          แก่นความรู้ ที่ได้จากการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านมหาโพธิเหนือ
          ๑. การประสานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการท้องที่ ,ท้องถิ่น ภาคเอกชนและคณะกรรมการหมู่บ้าน
          ๒. การพัฒนาการเรียนรู้ในเรื่องเทคโนโลยี ตลอดจนเทคนิคใหม่ๆในการวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชน
          ๓. การดำเนินวิถีชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ เอื้ออารีต่อกัน
อยู่อย่างประชาธิปไตย

          4. เกิดกลยุทธ์ในการทำงาน คือการสร้างความเข้าใจ ทัศนคติ และความสัมพันธ์ที่ดีกับคณะกรรมการและสมาชิกในชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา โยการเป็นองค์กรภาคีร่วมกัน ภายใต้แนวคิด ทฤษฏีที่สอดคล้องกับแก่นความรู้ ในเรื่องของการใช้ กระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่าย และ ชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น