วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

KM : การพัฒนาศักยภาพผู้นำ/องค์กรเครือข่าย โดย ดาริกา เทพธวัช

  ปัจจุบัน  การพัฒนาและแก้ไขปัญหาของหมู่บ้านเน้นให้ความสำคัญในการใช้รูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้การบริหาร การขับเคลื่อนงาน โครงการ กิจกรรมต่าง
ๆ ของหมู่บ้าน  ให้มีความเข้มแข็ง   พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑  จึงได้กำหนดถึงการพัฒนาผู้นำเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง  สามารถบริหารและพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว    
ดังนั้น  การที่จะทำให้หมู่บ้านเข้มแข็ง  พึ่งพาตนเองได้  ผู้นำจะต้องมีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง  ให้มีความรู้  ความเข้าใจ ในบทบาทของตนเอง  เข้าใจทุกภารกิจในหมู่บ้าน และภารกิจของ      ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และควรดำเนินงานในหมู่บ้าน  ดังนี้
  ๑) จัดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน  เพื่อให้ความรู้และข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  การจัดทำบัญชีครัวเรือน ฯลฯ
๒) ดำเนินการประชุม / สร้างจุดต้นแบบ เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านเกิดจิตสำนึกในการดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญลำดับแรก
๓) จัดประชาคมผู้นำเป็นกลุ่มย่อย เพื่อกำหนดแผนงานดำเนินการร่วมกัน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และรวบรวมบันทึกภูมิปัญญาของปราชญ์ประจำหมู่บ้าน โดยเน้นด้านการเกษตร และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงการบริหารจัดการทุนในหมู่บ้าน
๔) ประสานหน่วยงานภาคี ร่วมดำเนินการ

ปัญหาที่พบระหว่างดำเนินการ
  ๑) ชาวบ้านยังมีความรู้ความเข้าใจไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และเศรษฐกิจฐานราก ว่ามีประโยชน์ในการดำรงชีวิตอย่างไร  และยังคงมีความคิดว่าคนที่จะดำรงชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเป็นคนยากจน อดมื้อกินมื้อ ต้องกินน้อยใช้น้อย และอยู่ในภาคของเกษตรกรรมเท่านั้น
  ๒) แต่เดิมชุมชนเป็นหมู่บ้านวิถีทางการเกษตร  แต่ผลการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือการค้าเสรี ทำให้ค่านิยมในการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป โดยต้องการดำเนินชีวิตด้วยความศิวิไลซ์ จึงมีผลกระทบต่อการเลียนแบบของคนในชุมชนที่แข่งขันกันยกระดับคุณภาพชีวิตให้ทันสมัยด้วยสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้เกิดภาวะหนี้สิน ก่อให้เกิดความแตกแยก เพราะต้องดิ้นรนต่อสู้กับการจัดหาสิ่งของเพื่ออุปโภคบริโภคมากขึ้น  จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีราคาสูง  คุณภาพของดินถูกทำลายโดยการใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิต  ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนเสื่อมโทรม
สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาทับซ้อนมากมาย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
๓) มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำชุมชน โดยผู้นำรุ่นใหม่เข้ามาบริหารจัดการชุมชน แต่ยังขาดความรู้และแรงจูงใจในการทำงานเพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่มีการมอบหมายงานที่สำคัญของหมู่บ้านระหว่างผู้นำอย่างชัดเจน ทำให้ระดับการพัฒนาหมู่บ้านช้ากว่าที่ควรจะเป็น
๔) การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เพราะแต่ละหน่วยงานต่างมีภารกิจของตนเองต้องปฏิบัติล้นมืออยู่แล้ว
แนวทางแก้ไข
  ๑) ดำเนินการจัดเวทีประชาคมโดยเน้นการมีส่วนร่วม และสร้างจิตสำนึกสาธารณะ  รวมทั้งสร้างความตะหนักถึงสุขภาพที่แข็งแรง  เพราะหากสุขภาพร่างกายแข็งแรงจะส่งผลให้จิตใจมีความเบิกบานเกิดสติปัญญาในการรับรู้และแก้ไขปัญหาของชุมชนได้
  ๒) ผู้นำ ต้องลงมือทำงานในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน หน่วยงานภาคีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลงานคุณภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน  แต่ในปัจจุบันผู้นำทำงานจิปาถะมากเกินไป ทำให้เวลาในการร่วมทำงานกับประชาชนมีน้อย  วิธีการและกระบวนการพัฒนาชุมชนที่มีมาแต่ดั้งเดิมจึงไม่บังเกิดผลอย่างที่ควรจะเป็น
  ๓) กระตุ้นจิตสำนึกความเป็นผู้นำ ของผู้นำชุมชน โดยความร่วมมือของทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ  หน่วยงานภาคี และประชาชนเอง
๔) ผู้นำต้องศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องการทำงานให้มากขึ้น เพื่อความชัดเจนในการร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาคี และประชาชน รวมทั้งทำตัวเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตแบบพอเพียง และทำงานแบบเข้าหาประชาชนในหมู่บ้านให้มากขึ้น


สถานที่ติดต่อ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครสวรรค์  โทร. 056-226746

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น