วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

KM : การดำรงชีวิตแบบพอเพียงนำไปสู่การพัฒนาชุมชน โดย จิณณพัต สาครบุตร

ปัจจุบันกระแสการส่งเสริมการดำรงชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับการส่งเสริมให้ประชาชนนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านสังคม เศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย และดูจะประสบ
ความสำเร็จเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันอย่างแพร่หลาย
แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนจะตรงกันข้าม เนื่องจากประชาชนยังคงมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น ขาดการจัดการการเงินอย่างเป็นระบบ สุขภาพเสื่อมโทรมจากความเครียดในการดำรงชีวิตอีกทั้งปัญหาด้านครอบครัว สืบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจข้างต้น ทำให้ต้องใช้เวลาในการหารายได้เพิ่มมากขึ้นจนขาดการเอาใจใส่ครอบครัว ส่งผลให้เยาวชนมีปัญหา ซึ่งกระทบต่อผลการพัฒนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำอย่างไรให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงได้ คำตอบอยู่ไม่ไกลคือ “ตัวเรา” นั่นแหละสำคัญที่สุด แล้วทำอย่างไรให้ตัวเราเป็นกลไกให้เกิดการดำรงชีวิตแบบพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ตามมาดูกัน
หลักการง่าย ๆ ของการเรียนรู้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง คือ ต้องเรียนรู้แบบเหตุและผลเป็นไปตามหลักของอริยสัจสี่ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือแสดงผลว่าเป็นอย่างไรแล้วจึงไปจัดการที่เหตุ ผลเหล่านั้นจึงจะหมดไป
ปัญหา ในการส่งเสริมการดำรงชีวิตแบบพอเพียงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จากหลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มักจะเริ่มที่ 3 ห่วง คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน ก่อน เท่ากับเราเริ่มที่ผลแต่ไม่ได้บอกเลยว่าจะเกิดผลเหล่านี้ต้องจัดการที่เหตุอะไร อย่างไรก่อน แท้จริงแล้วหลักการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ้าสังเกตให้ดีจะยึดหลักของธรรมะคือเริ่มจากดับที่เหตุ  ดังนั้นต้องเริ่มจากรากฐาน 2 เงื่อนไขก่อน ความรู้คู่คุณธรรม ไล่จากหลังไปหน้า ให้คนมีคุณธรรมหมายความว่าต้องปรับที่ภายในคือจิตใจให้เข้าใจตนเองและไม่เบียดเบียนตนเอง เมื่อคนเราไม่เบียดเบียนตนเองก็จะไม่เบียดเบียนผู้อื่น ๆ ในที่นี้รวมทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ทำให้เกิดการแสวงหาความรู้ที่มนุษย์จะอยู่ร่วมเองและกับธรรมชาติได้โดยสนติสุขก่อให้เกิดภูมิปัญญาที่หลากหลาย หากเป็นดังที่กล่าวความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ  ไม่ต้องบังคับให้ทำตามหลักเกณฑ์เพราะเกิดความตระหนักว่าถ้าเราไม่เบียดเบียนผู้อื่นเราก็จะอยู่ได้อย่างเป็นสุข
ผลสำเร็จ เมื่อเป็นอย่างนี้ได้ส่วนราชการจะดำเนินการตามขั้นตอนได้อย่างราบรื่น ประสบผลสำเร็จโดยไม่ต้องเหนื่อยแรงกาย แรงใจจนเกินไป โดยใช้หลักบันได 3 ขั้น คือ
บันได ขั้นที่ 1 การ “พึ่งตนเอง” เริ่มจากการพัฒนาตนเองและครอบครัวทั้งด้านจิตภาพ(ลด ละเลิก อบายมุข) กายภาพ (การทำกิจกรรมกิน – ทำใช้)และการบริหารจัดการ การเงินของตนเองและครอบครัว(บัญชีครัวเรือน) เพื่อให้เกิดความพอเพียงสามารถพึ่งตนเอง
บันได ขั้นที่ 2 การ “พึ่งพาซึ่งกันและกัน” เริ่มต่อยอดจากการพัฒนา ขั้นที่ 1 คือการพัฒนาตนเอง และครอบครัวให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ สู่ขั้นที่ 2 คือ การรวมกลุ่มหรือชุมชนเข้มแข็งทางสังคมและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำกิน – ทำใช้ ตลอดจนสร้างเครือข่าย กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันประสบการณ์พัฒนาในลักษณะพึ่งกันและกัน
บันได ขั้นที่ 3 การ “เติบโตเป็นกลุ่ม/สถาบัน” เริ่มต่อยอดจากการพัฒนา ขั้นที่ 2 เพื่อคัดสรรจุดเด่นวิสาหกิจชุมชน อันเป็นภูมิปัญญาชุมชนผสานกับภูมิปัญญาสากล เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจเชื่อมโยงธุรกิจกับองค์กรภายนอกชุมชน
มีกระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 6 กระบวนการ ดังนี้
1. การศึกษาวิเคราะห์ชุมชน เป็นการประเมินการพัฒนาในปัจจุบันของชุมชนโดยการวิเคราะห์ปัญหาและทุนทางสังคม ประสบการณ์งานพัฒนา รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อชุมชน
2. กำหนดเป้าหมายหรือทิศทางการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นและการกำหนดวาระการพัฒนาของชุมชน
3. การจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมและวิธีการดำเนินงานที่สำคัญ รวมทั้งการระบุแหล่งที่มาของข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อการวัดผล ทั้งนี้ในการจัดทำตัวชี้วัดนี้ขบวนชุมชนอาจต้องการจัดเวทีหมุนเวียนรายชุมชน ในลักษณะ “เวทีประชาคมหมู่บ้าน “ เพื่อการสื่อสารและสร้างการยอมรับร่วมกันแล้วสรุปเป็นตัวชี้วัดร่วมของคนทั้งตำบลและจัดเวทีรวม เพื่อเชื่อมโยงกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่
4. การกำหนดวิธีการได้มาซึ่งข้อมูล ตัวชี้วัด ว่าข้อมูลนั้นได้มาอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะมีข้อมูลสนับสนุนการวัดผลอย่างต่อเนื่องได้
5. การจัดระบบสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาของกลุ่มองค์กรชุมชนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนตามแผนงาน ให้บรรลุผลตามตัวชี้วัด
6. การจัดระบบการติดตาม/ประเมินผลภายในตามตัวชี้วัดเพื่อติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด ทบทวนผลการดำเนินงานที่ชุมชนดำเนินการว่ามีกิจกรรมใดที่ทำเพื่อตอบสนองความต้องการ มีการจัดเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูลจากการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อใช้เปรียบเทียบและประเมินผลและการจัดทำรายงานผล เสนอผลต่อชุมชน ผู้เกี่ยวข้อง/ภาคีการพัฒนารวมทั้งการสรุปบทเรียน(AAR) และการสรุปเป็นชุดองค์ความรู้เชิงประสบการณ์ เพื่อการขยายผลการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนต่อไป
กลยุทธ์ในการทำงาน
1. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง
2. จัดเก็บข้อมูลเอกสารอย่างเป็นระบบและปัจจุบัน
3. ประสานการดำเนินงานการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงในระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
4. ติดตาม/ประเมินผล/สรุปผลการดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ


นางจิณณพัต  สาครบุตร
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น