จากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศ กำลังประสบปัญหาด้านต่างๆ เช่น ปัญหาด้านยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความไม่เท่าเทียมด้านโอกาส ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความยากจน
ซึ่งข้าพเจ้าขอนำเสนอแนวความคิดปัญหาเร่งด่วนของประเทศในขณะนี้คือ ปัญหาด้านปากท้องของประชาชน ปัญหาความยากจนมีความสลับซับซ้อน สาเหตุของปัญหามีความเชื่อมโยงกันจนไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าปัจจัยใด ปัจจัยหนึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาความยากจนที่แท้จริง สภาพแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ได้เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาความยากจน2. ส่วนขยาย
ในฐานะที่ข้าพเจ้าทำงานเกี่ยวกับการพัฒนามานาน ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข
ปัญหาความยากจนของประชาชนว่า ทุกรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุผลตามเป้าหมายได้ เห็นได้จากการทุ่มเทงบประมาณในปริมาณมาก เพียงเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระดับบนและระดับฐานราก กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดโครงการสัมมาชีพชุมชน เพื่อเป็นการตอบสนองการแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับฐานรากที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าจะเป็นเพียงน้อยนิด แต่ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาจากภาคการเมือง โดยมุ่งเป้าหมายไปที่เศรษฐกิจฐานรากเป็นสำคัญ ประกอบกับใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม (ปราชญ์ชาวบ้าน) เติมเต็มด้วยการเป็นวิทยากรที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้เท่าที่มีอยู่และเป็นความต้องการของประชาชน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการประกอบอาชีพของประชาชน ให้เกิดความหลากหลาย และเป็นไปตามความถนัดและความต้องการของตลาด มิได้มุ่งผลิตสินค้าประเภทเดียวที่ทำให้เกิดสภาวะสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ การผลิตโดยให้ภาครัฐ นำความคิดมุ่งเน้นการผลิตในปริมาณมาก (Mass Product) โดยลืมคำนึงถึงการตลาด ประชาชนซึ่งยากจนอยู่แล้ว อำนาจการซื้อ การบริโภคก็ลดลง ทำให้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเลวร้ายลงไปอีก ภาครัฐมุ่งหวังพึ่งพาโชคชะตากับการส่งออก หากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ย่อมส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิตโดยเฉพาะภาคการเกษตร
3. บทสรุป
ปัญหาความยากจนถูกสั่งสมมานาน การแก้ปัญหาด้วยการเน้นเศรษฐกิจฐานราก นับว่าเป็น
การแก้ปัญหาที่ตรงจุด แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยประชากรจำนวนมาก จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน ตามแนวทาง ดังนี้
1. เริ่มจากสิ่งที่ประชาชนเป็นอยู่ วัฒนธรรมประเพณีแห่งท้องถิ่น สภาพแวดล้อม
2. ยึดความสนใจของประชาชนเป็นหลัก (ภาครัฐไม่ควรเป็นผู้กำหนดเหมือนในอดีต) โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และเป็นพี่เลี้ยงประชาชน ต้องศึกษาข้อมูล วิเคราะห์และคิดตัดสินใจด้วยตัวเอง ก่อให้เกิดความรับผิดชอบและรู้สึกเป็นเจ้าของ (sense of belonging)
3. ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า เป็นประโยชน์มากที่สุด เสริมสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาทดแทนอย่างสมดุล รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี
4. ประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จในวงกว้าง และขยายผลสู่ชุมชน หมู่บ้านอื่น มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อไป
เจ้าของความรู้ นายสมพงศ์ ผลไพร
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอชุมแสง
สถานที่ติดต่อ/สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชุมแสง ที่ว่าการอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-8209344
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น