วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

KM : การขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความยั่งยืนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ โดย ดวงใจ พยัพเดช

          ๑.  ส่วนนำ
กรมการพัฒนาชุมชน  ได้ดำเนินการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  “อยู่เย็น เป็นสุข”   เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต และเป็นเป้าหมายของการพัฒนา
หมู่บ้าน โดยจัดกระบวนการ เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านได้ใช้ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ และนำแนวทางการปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาตาม แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ แบ่งเป็น  ๓  ลักษณะ  คือ  หมู่บ้านพัฒนา  “พออยู่ พอกิน”  “อยู่ดี กินดี”  และ  “มั่งมี ศรีสุข”   ซึ่งแต่ละประเภทจะเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ให้กับหมู่บ้านอื่น ที่จะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ในการพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งทัดเทียมกัน และคงความต่อเนื่องในการพัฒนา เพื่อเป็นหมู่บ้านที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน  พร้อมทั้งมีความพร้อมในการเป็นต้นแบบอย่างแท้จริง เพื่อขยายผลไปสู่หมู่บ้านที่มีความสนใจ และเริ่มจัดกระบวนการพัฒนาโดยใช้วิธีการเรียนรู้ร่วมกันแบบบ้านพี่บ้านน้อง ในลักษณะเครือข่ายการพัฒนาร่วมกัน
          ๒.  ส่วนขยาย
การสร้างความยั่งยืนพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ประจำปี ๒๕๕๙  บ้านตั้วเกา หมู่ที่
๑  ตำบลท่างิ้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ การสร้าง/ส่งเสริม และสนับสนุนผู้นำ กลุ่ม/องค์กรชุมชน ให้เป็นแกนนำ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  โดยมีกระบวนการ วิธีการ เทคนิค และขั้นตอนดำเนินการดังนี้
  กระบวนการ/วิธีการ และเทคนิคการดำเนินงาน/ขั้นตอนการดำเนินงาน
ดำเนินการทบทวนผลการพัฒนาหมู่บ้าน และจัดกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง  โดย
การจัดเวทีประเมินหมู่บ้าน  ประเมิน GVH  ครั้งที่ ๑  และจัดกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตแบบพอเพียง  ระยะ เวลาอย่างน้อย  ๑  วัน
          1)  จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้แทนครอบครัวพัฒนา  ๓๐  คน  เพื่อทบทวนกระบวนการเรียนรู้  ประเมินเพื่อตรวจสภาพหมู่บ้าน  (๔ ด้าน ๒๓ ตัวชี้วัด)  และประเมินความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน ก่อนการพัฒนา
          2)  จัดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลของครอบครัว  เพื่อทำแผนชีวิตของครอบครัว  และทบทวนปรับแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน
          ๓)  จัดกิจกรรมสาธิตการดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อสร้างทักษะการดำรงชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  รวมทั้งการเตรียมการสำหรับการเป็นบ้านพี่
                    ๔)  จัดให้มีการประเมินระดับการพัฒนาของหมู่บ้านตามเกณฑ์ประเมินหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย (๔ ด้าน ๒๓ ตัวชี้วัด)  และการประเมินความ  “อยู่เย็น  เป็นสุข”   หรือความสุขมวลรวมของหมู่บ้าน/ชุมชน  (GVH)  แบบมีส่วนร่วม  ครั้งที่ ๒  ในเดือนมิถุนายน  ๒๕๕๙  (ไม่มีงบ ประมาณ)  เป็นการประเมินหลังการพัฒนา  และสร้างความรู้เรื่องวิธีการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินกิจกรรม  จัดทำเป็นเอกสารความรู้อย่างน้อย  ๑  ฉบับ
๕)  สนับสนุนให้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบทุกหมู่บ้าน  จัดทำป้ายหมู่บ้าน  ตามแบบที่กรมฯ  กำหนด  (สำหรับหมู่บ้านที่ยังไม่มีป้ายหมู่บ้าน)
๖)  สนับสนุนให้หมู่บ้านดำเนินการคัดเลือกพื้นที่ในการขยายผลแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง อย่างน้อย  ๑ : ๑  หมู่บ้าน  โดยเน้นพื้นที่ใกล้เคียง
          ๓.  ส่วนสรุป
“ชุมชน จะเข้มแข็งได้  ต้องเกิดจากรากฐานของความร่วมมือ ร่วมใจ ของคนในชุมชน”   ความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน/ชุมชน  การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน  ต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องส่วนรวม  เรื่องไหนสำคัญกว่ากัน   ถ้าแยกได้ความสามัคคีก็จะเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน การทำงานอะไรก็จะประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์  และต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจซึ่งกันและกัน  การมีส่วนร่วมในการวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันของทุกองค์กร  เวทีประชาคมเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันอย่างเป็นเจ้าของ  เกิดความผูกพัน และมีความสำนึกรับผิดชอบในการดูแล และอนุรักษ์ชุมชนด้วยตนเอง  นอกจากนี้ชุมชนมีการแบ่งปันเอื้ออาทรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน   มีการรวมกลุ่มแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน
          ๔.  ขุมความรู้
๑.  การทำงานจะประสบความสำเร็จต้องดำเนินการสอดคล้องหรือจังหวะในการดำเนินวิถีชีวิต
ของชุมชน การเข้าไปดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ต้องดูว่าชุมชนมีภารกิจอะไรอยู่   เช่น  เป็นฤดูทำนา  ทำไร่ หรือว่างช่วงไหน จึงจะทำให้กิจกรรมประสบความสำเร็จ
๒.  การสร้างความเป็นกันเองหรือสร้างความคุ้นเคย โดยเฉพาะผู้นำจะทำให้เกิดการยอมรับและ
นำไปสู่ความร่วมมือในการทำงาน
๓.  การศึกษาดูงานหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จ เป็นการกระตุ้นทำให้ชุมชนเกิดแรงบันดาลใจ      
สู่การลงมือปฏิบัติ
๔.  ความต่อเนื่องในการทำงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ
         ๕.  แก่นความรู้
  ๑.  การสร้างทีมงานเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จเพราะการทำงานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ใช้หลัก  "การมีส่วนร่วม"  ในทุกระดับภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ องค์กรภาคประชาชน  เพื่อให้การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงประสบความสำเร็จและพึ่งตนเองได้
๒.  การประสานงาน  เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน  แกนนำกลุ่มองค์กรชุมชน  เครือข่าย ทีมงานภาคีการพัฒนาระดับตำบล/อำเภอ คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมรู้ ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์ เพื่อค้นหาข้อมูล รวบรวมผลงานของกลุ่ม/องค์กร และจัดทำเอกสารความรู้ในการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่น
๓.  ผู้นำชุมชนมีศักยภาพ มีภาวะผู้นำ  มีความเสียสละ  มีการบริหารจัดการหมู่บ้านที่ดี มีความเข้มแข็ง มีความพร้อม มีความสามัคคี ในการเข้าร่วมการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และขยายผลครัวเรือนต้นแบบให้ครอบคลุมทั่วทุกครัวเรือนในระดับหมู่บ้าน
เจ้าของความรู้ นางดวงใจ  พยัพเดช                                                                                                                                                    
ตำแหน่ง/สังกัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์                                                                                                                        
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ   การขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างความยั่งยืนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น