วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559

KM : การบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล โดย ณัฐชนันท์พร อู่สัมฤทธิ์

        แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี (พ.ศ. 2555 – 2559) กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนชุมชนเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ 1 ใน 6 ประเด็น โดยมีเป้าประสงค์ คือ เสริมสร้างขีดความ
สามารถการบริหารงานชุมชน ประกอบด้วย กลยุทธ์ 3 กลยุทธ์ คือ
๑. พัฒนากลไกและระบบการขับเคลื่อนแผนชุมชน
๒. พัฒนาระบบรับรองมาตรฐานแผนชุมชน
๓. พัฒนากระบวนการบูรณาการแผนชุมชน
  ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้จัดสรรงบประมาณ และกำหนด กิจกรรมหลักที่ 1 การส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนแบบบูรณาการ กิจกรรมย่อยที่ 2 พัฒนาแผนชุมชน ให้จังหวัด/อำเภอดำเนินการ ตามแนวคิดให้แผนชุมชนสามารถนำเสนอสภาพปัญหาและความต้องการในภาพรวมของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชนทั่วประเทศ และหน่วยงานระดับนโยบายต่าง ๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายได้ โดยมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ มีระบบรับรองมาตรฐานแผนชุมชน และมีกระบวนการบูรณการแผนชุมชนในระดับตำบล เพื่อจัดทำเป็นแผนชุมชนเชิงบูรณาการระดับตำบล บ่งชี้ถึงระดับการใช้ประโยชน์แผนชุมชน ในการนำเสนอสภาพปัญหาและความต้องการในภาพรวม และมีการเชื่อมโยงแผนชุมชนไปสู่แผนพัฒนาระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ต่อไป
กลไกการบูรณการแผนชุมชนระดับตำบล เป็นแผนที่จัดทำขึ้นโดยการมีส่วนร่วมของประชาคมระดับตำบล ดังนั้นกระบวนการประชาคมของตำบลจึงเป็นกระบวนการหลักในการบูรณาการและเพื่อให้กระบวนการประชาคมของตำบลสามารถเป็นกระบวนการที่ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการหลอมรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ มาใช้ในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา/ความต้องการ เพื่อพัฒนาให้หมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงกำหนดให้มีคณะกรรมการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการบูรณาการ
บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
องค์ประกอบในการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล
1. ข้อมูล มี 2 ประเภท คือ
    1.1 ข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ได้แก่
          1) ข้อมูลทางกายภาพ (ศักยภาพในชุมชน) : จำนวนประชากร หญิงและชาย / จำนวนครัวเรือน  การตั้งบ้านเรือนในชุมชน / ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลักษณะทางนิเวศวิทยา ข้อมูลที่ดิน พื้นที่ สาธารณะ / แหล่งน้ำกิน น้ำใช้ น้ำการเกษตร / สภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ  การคมนาคม / พืชและสัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ หรือพืชที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง / ปัญหาทางด้านกายภาพหรือสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา
2) ข้อมูลทางสังคม การเมือง การปกครอง :  ประวัติความเป็นมาของชุมชน เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ วิถีการดำรงชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น การอพยพถิ่นฐาน / ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในและภายนอกชุมชน / ผู้นำชุมชน กลุ่ม องค์กร เครือข่าย ในชุมชน / การศึกษาและสุขภาพ / โครงสร้างทางการ
ปกครอง และการแบ่งกลุ่มบ้านหรือคุ้มบ้าน / กลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคม / การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาของหมู่บ้าน ชุมชน / การมีส่วนร่วมของชุมชน / บทเรียนที่หมู่บ้าน ชุมชนได้รับ / ปัญหาทางสังคม การเมืองการปกครอง
3) ข้อมูลทางเศรษฐกิจ : การประกอบอาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง และอาชีพเสริม / ความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ ทักษะในการประกอบอาชีพ / คนวัยแรงงาน จำนวนคนมีงานทำ คนว่างงาน แรงงานในอนาคต / ข้อมูลรายได้ รายจ่าย หนี้สิน เงินออม ในชุมชน / ข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด / แหล่งทุนที่เป็นเงินในชุมชน เช่น กองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ชุมชน / ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์หลัก ผลิตภัณฑ์รอง ผลิตภัณฑ์ในอนาคต / ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพในชุมชน แหล่งเรียนรู้ในหมู่บ้าน ชุมชน / วัตถุดิบในการผลิตสินค้าชุมชน แหล่งวัตถุดิบอื่น ๆ /ตลาดในชุมชน ช่องทางการตลาด และเครือข่ายการตลาด / แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน / ปัญหาทางเศรษฐกิจ ในระดับครัวเรือน ระดับกลุ่ม และระดับชุมชน
4) ข้อมูล กชช.2ค : ข้อมูลด้านกายภาพ / ข้อมูลพื้นฐานครัวเรือน / ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ / ข้อมูลด้านสังคม
    1.2 ข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน ได้แก่ ข้อมูล จปฐ. / ข้อมูล บัญชี รับ – จ่าย ของครัวเรือน /  พฤติกรรมการบริโภคของครัวเรือนในหมู่บ้าน
2. กลไก มี 2 ส่วน คือ
    2.1 ทีมงานตำบล ได้แก่ การจัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำตำบล มีหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอเป็นหัวหน้าชุดฯ ประกอบด้วย คณะทำงาน จำนวน 9-15 คน ขับเคลื่อนโดยใช้นโยบายของรัฐและวิธีคิดแบบภาครัฐ และสามารถเป็นที่ปรึกษาปัญหาให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี / จัดตั้งศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนระดับตำบล (ศอช.ต) ประกอบด้วย กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำทางศาสนา ปราชญ์ชาวบ้าน หมู่บ้านละ 3-5 คน
   2.2 ความสัมพันธ์ มี 2 ประเภท คือ
                   1) ความสัมพันธ์ของคน ได้แก่ ทีมงานระดับตำบล วิทยากรกระบวนการ และผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการ ต้องสร้างความสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการปรับกระบวนการคิดในการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ทำให้เกิดการเรียนรู้ การยอมรับซึ่งกันและกัน ทำให้ลดความขัดแย้ง เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ
       2) ความสัมพันธ์ของข้อมูล ได้แก่ ชุมชนมีข้อมูลอยู่มากมาย หากไม่รู้จักใช้ก็ไร้คุณค่า ซึ่งต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์เจาะลึก ให้เห็นประเด็นปัญหา และแนวทางการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบลที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรจากทุกภาคส่วน รวมทั้งต้องศึกษานโยบาย เป้าหมาย และช่องทางการติดต่อประสานงานของแต่ละภาคส่วนอีกด้วย
3. ขั้นตอนการกระบวนการแผนชุมชนระดับตำบล มี 5 ขั้นตอน คือ
    ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์ปัญหา โดยทีมตำบลร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง นำข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด เปิดเวทีประชาคม และร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นปัญหา/สาเหตุ ค้นหาศักยภาพ ความต้องการ และสรุปเสนอต่อที่ประชาคม
    ขั้นตอนที่ 2 การบูรณาการแผนชุมชน โดยนำข้อมูลที่สรุปได้ มาวิเคราะห์ชุมชน / ค้นหาโอกาส และแนวทางแก้ไขปัญหา / การกำหนดเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ / การกำหนดรายละเอียดการวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา / จัดกลุ่มแผนงานโครงการ
    ขั้นตอนที่ 3 การเชื่อมโยงแผนชุมชน ระหว่าง ทรัพยากร คน และเงิน ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อจัดทำโครงการและขอรับการสนับสุนนงบประมาณ
    ขั้นตอนที่ 4 การนำแผนสู่การปฏิบัติ คือ การบริหารจัดการทีมงานตำบลและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามตรวจสอบ สนับสนุนการนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุตามเป้าประสงค์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การบริหารแผนงานโครงการ จึงจะประสบผลสำเร็จและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
    ขั้นตอนที่ 5 ติดตามประเมินผล / สรุปบทเรียน เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงานในปีถัดไป ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น  
แก่นความรู้ (Core  Competencies)
วิธีการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล
๑. ก่อนดำเนินการ : ศอช.ต.ติดตามสนับสนุน ส่งเสริม ให้ทีมปฏิบัติการตำบลและผู้เกี่ยวข้อง ทบทวนแผนชุมชนในหมู่บ้านให้เรียบร้อย ช่วงเดือน มกราคม ของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบลในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกปี
2. การเตรียมการ : ประชุมผู้นำ/กรรมการระดับหมู่บ้าน /รวบรวมแผนชุมชน/เตรียมข้อมูลในการวิเคราะห์/เตรียมทีมบูรณาการแผนชุมชน
3. การดำเนินการ : จัดเวทีประชาคมตำบล / วิเคราะห์ข้อมูลทุกหมู่บ้าน / วิเคราะห์ปัญหาความต้องการ /กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาความต้องการ/กำหนดอัตลักษณ์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของตำบล/ จัดลำดับความสำคัญ
4. การยกร่างการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบลเพื่อขอความเห็นชอบ : คณะทำงานทีมตำบลจัดทำโครงร่างแผนชุมชนระดับตำบล / จัดเวทีประชาพิจารณ์หรือใช้วิธีการ ช่องทางที่เหมาะสม และร่วมกันแสดงความคิดเห็น / นำเสนอเวทีประชาคมระดับตำบลเพื่อให้ความเห็นชอบและเกิดการยอมรับ / การจัดทำรูปเล่มแผนชุมชนระดับตำบล เพื่อบรรจุในแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนำเข้าในข้อบัญญัติงบประมาณ
5. การตรวจสอบ/ประชาสัมพันธ์/ติดตาม/ประเมินผล : ตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมโครงการ / ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการ / ประเมินผลสำเร็จของโครงการ / ประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกขั้นตอน
ชื่อ – สกุล นางสาวณัฐชนันท์พร  อู่สัมฤทธิ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าตะโก
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก ๐๘ ๙๔๓๙ ๙๒๙๑
ชื่อเรื่อง การบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ การขาดความรู้ความเข้าใจการบูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปีงบประมาณ ๒๕๕๙
สถานที่เกิดเหตุการณ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น