วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

KM : เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบผลสำเร็จ โดย น.ส.ปิยะวัลย์ ใจสูงเนิน


1. ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้ 
         จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 9 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมุ่งเน้นให้พัฒนาโดยยึดหลักการพัฒนาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดและปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชายไทยโดยตลอด ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สังคมไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้โลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสังคม
         กรมการพัฒนาชุมชน ได้นำหลักคิดในการบูรณาการทำงานและตอบสนองนโยบายในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัฐบาล โดยเชื่อมโยงการทำงานของกรมการพัฒนาชุมชน เข้ากับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ใน 2 ระดับ คือ ระดับพื้นฐานและระดับก้าวหน้า  การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกระบวนการจัดการพัฒนาประชาชน พัฒนาหมู่บ้านและชุมชน ให้มีวิถีชีเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข” ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในการเสริมสร้างชุมชน ให้เข้มแข็ง ด้วยการประสานพลังระหว่างภาคี หรือพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ ปราชญ์ ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเกิดจากแนวคิดการบูรณาการในด้านต่างๆ นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเองได้

         พัฒนากร เป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนปฏิบัติงานในระดับพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล เป็นผู้นำนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ของกรมการพัฒนาชุมชน สู่การปฏิบัติโดยมีเป้าหมายอยู่ที่ความ “อยู่เย็น เป็นสุข”ของประชาชนในหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2552 ถึงปัจจุบัน
2. ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา 
          ปัญหาที่พบ
          1. การเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย ไม่เกิดการตื่นตัวในการสมัครเข้าร่วมกิจกรรม ต้องขอความร่วมมือจากผู้นำ หรือกึ่งบังคับ
          2. กลุ่มแกนนำไม่มีความพร้อมในการขับเคลื่อนหมู่บ้าน
          3. การคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบและเปิดเป็นจุดเรียนรู้ ครัวเรือนไม่มีความสามารถในการนำเสนอผลการดำเนินงาน ไม่มีเวลา
          การแก้ไขปัญหา
          1. การเสียสละของทีมงานชุมชน (กม./กรรมการคุ้ม/ปราชญ์ชาวบ้าน)
          2. การประสานภาคีการสร้างงานพัฒนา
          3. สร้างผลงานที่ประสบผลสำเร็จน่าเชื่อถือ
          4. มีการประชุมเป็นนิจ วิเคราะห์สรุปผลงาน
          5. ประชาสัมพันธ์ สรรเสริญ  ยกย่อง ให้เกียรติ ผู้คนในชุมชนที่มีการกระทำความดีต่อชุมชนทักษะและความรู้ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหา
          6. ทำด้วยความจริงใจไม่หวังผลตอบแทน
3. ประโยชน์ขององค์ความรู้
          เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบให้กับหมู่บ้านอื่นๆ และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน
4. เทคนิคในการปฏิบัติงาน 
          1. การเลือกหมู่บ้านเป้าหมาย ต้องทำการประชาสัมพันธ์รับสมัครหมู่บ้านเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมคิดและตัดสินใจตั้งแต่ก่อนเริ่มโครงการ และประชุมประชาคมตรวจสอบคุณสมบัติหมู่บ้านให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับแนวทาง มีความเป็นไปได้ ต้องให้เกิดความตื่นตัวสมัครใจเข้าร่วมด้วยความเต็มใจ
          2. การพัฒนาผู้นำ/กลุ่ม/องค์กร โดยนำแกนนำออกไปศึกษาดูงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จ ต้องการให้เกิดผู้นำที่เป็นแกนนำเป็นแนวทางในพัฒนาและปรับทัศนคติสร้างแรงบันดาลใจใหม่ที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่
          3. การออกแบบการบริหารจัดการหมู่บ้าน จัดให้มีการประชุมประชาคมหมู่บ้าน เพื่อขอมติ รูปแบบการบริหารปกครองและจัดการหมู่บ้านในรูปแบบคุ้มบ้าน เพื่อสร้างกลไกการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การกระจายอำนาจ ความรับผิดชอบอย่างทั่วถึง
          4. การคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบ โดยการสร้างการมีส่วนร่วมให้คุ้มบ้านคัดเลือกครัวเรือนที่สมัครใจ รับสมัครครัวเรือนต้นแบบตามความสมัครใจ และจัดทำแผนที่เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของครัวเรือนต้นแบบ
          5.ครัวเรือนต้นแบบศึกษาดูงานหมู่บ้านที่ประสบผลสำเร็จ และถอดบทเรียนจากการดูงาน เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ให้กับครัวเรือนต้นแบบที่แตกต่างและเห็นถึงช่องทางไปสู่ความสำเร็จ เป็นแนวทางในการพัฒนาอาชีพของตนเอง
          6. ติดตามเยี่ยมเยือนครัวเรือนต้นแบบ โดยคณะกรรมการคุ้มบ้าน พัฒนากร แกนนำและภาคี เพื่อสร้างกำลังใจ สร้างความรู้สึกอบอุ่น แก้ปัญหาและอุปสรรคได้เวลา เกิดการศึกษาเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ภาคี และครัวเรือนต้นแบบ
          7. คัดเลือกครัวเรือนต้นแบบเพื่อเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยเชิญภาคีเครือข่ายร่วมกิจกรรมเพื่อขยายผลต่อยอด

          การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่ง ที่บุคคลกรผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธาในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การเตรียมหมู่บ้านให้มีความพร้อมก่อนดำเนินการเป็นหัวใจที่สำคัญ สถานที่ศึกษาดูงานที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจใหม่ที่แตกต่างมีความสำคัญต่อความสำเร็จของครัวเรือนต้นแบบและหมู่บ้าน การติดตามให้กำลังใจให้คำปรึกษาแก้ปัญหาอุปสรรคเป็นระยะ จะส่งผลถึงความสำเร็จ
         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น