วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

KM : เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาเขียว โดยน.ส.วนิดา อำพันธ์ุ


1. ชื่อองค์ความรู้          เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาเขียว
                             หมู่ที่ 7 ตำบลกลางแดด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
2. ชื่อเจ้าของความรู้        นางสาววนิดา  อำพันธุ์ ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
                              สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
3. องค์ความรู้ที่บ่งชี้       หมวดที่ 2 เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
4. ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้ (อธิบายโดยละเอียด) (คะแนนเต็ม 20 คะแนน)
              การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง ความไม่ประมาท ไม่ฟุ่มเฟือย คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง ตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต โดยมีใจความสำคัญคือสติ ปัญญา และความเพียร ซึ่งเป็นบันไดสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริงโดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในการเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ซึ่งเป็นการพัฒนาชนบทโดยนำแนวทางการพัฒนาอันเนื่องมาจาก
พระราชดำริมาใช้ เพื่อเป็นต้นแบบหรือแนวทางให้กับหน่วยงาน หมู่บ้านหรือชุมชน ประชาชน นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินงานในพื้นที่ ด้วยการประสานพลังระหว่างภาคี หรือพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษาและประชาชนในพื้นที่ และนำไปบูรณาการสู่กระบวนการเรียนรู้ในการช่วยเหลือตนเองจนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ดังนี้
          “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...” (18 กรกฎาคม 2517)
          “...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...” (4 ธันวาคม 2517)
          จากพระบรมราโชวาทนี้จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่าการพัฒนาที่เน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงทรงเน้นให้สร้างความพอมีพอกินในประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน และเมื่อมีพื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควรแล้ว จึงค่อยสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นเป็นลำดับถัดไป

5. ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา (อธิบายโดยละเอียด) (คะแนนเต็ม 10 คะแนน)
            5.1 ปัญหาที่พบ : ประชาชนในหมู่บ้านบางครัวเรือน ขาดอาชีพเสริม มีรายได้จากอาชีพหลักเพียงอย่างเดียว ขาดการรวมกลุ่มในการประกอบอาชีพหลักและอาชีพรอง  ปัจจัยในการผลิตมีต้นทุนสูง ประชาชนบางส่วนมีภาระหนี้สิน เนื่องจากรายรับ ไม่สมดุลกับรายจ่าย ขาดแหล่งน้ำในการทำการเกษตร ปัญหาน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่
           5.2 แนวทางการแก้ไขปัญหา : ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนากลุ่มอาชีพ

6. ประโยชน์ขององค์ความรู้ (อธิบายโดยละเอียด) (คะแนนเต็ม 15 คะแนน)
              6.1 พัฒนากรสามารถบริหารจัดการองค์ความรู้ของกรมการพัฒนาชุมชน และนำไปสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชนตามภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชนได้
              6.2 องค์ความรู้ที่ได้ถ่ายทอด สามารถนำไปเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจและสามารถขยายผลสู่คนรุ่นหลังได้
  
7. เทคนิคในการปฏิบัติงาน (อธิบายโดยละเอียด) (คะแนนเต็ม 25 คะแนน)
พัฒนากรผู้ส่งเสริม สนับสนุน การขับเคลื่อนหมู่บ้านเป้าหมาย ได้ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพ  โดยมีเป้าหมายให้ครัวเรือนเป้าหมายได้มีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ของครัวเรือนให้เพิ่มขึ้นโดยมีกระบวนการขั้นตอนดำเนินการดังนี้
1)  เตรียมความพร้อมข้อมูลครัวเรือนเป้าหมาย 30 ครัวเรือน เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมและให้ความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศึกษาดูงานบ้านพี่ที่เป็นต้นแบบ
2) มีการประเมินความสุขมวลรวม (Spider Diagram) / ปรอทวัดความสุข จัดทำบัญชีครัวเรือน สนับสนุนกลุ่มอาชีพโดยมีการสาธิตอาชีพตามความต้องการของครัวเรือนเป้าหมาย
3)  ส่งเสริม สนับสนุน กำกับติดตามครัวเรือนเป้าหมาย 30 ครัวเรือน
4)  คัดเลือกครัวเรือนต้นแบบจากหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1 ครัวเรือน
5)  ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพแก่หมู่บ้าน และลงทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เพื่อสร้างอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น