วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

KM : การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบผลสำเร็จ โดยนายนิธิศ แสงทอง


1. ชื่อองค์ความรู้        การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ประสบผลสำเร็จ
2. เจ้าของความรู้ ชื่อ  นายนิธิศ   แสงทอง  ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
   สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์  โทร. 091-3277401
3. องค์ความรู้ที่บ่งชี้ หมวดที่ 2 เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
                    เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนใน ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน ถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร  ตามหลักการพัฒนา 3 ห่วง 2 เงิอนไข    ที่จะมีผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งจะต้องอาศัย ความรับผิดชอบ ความเอาใจใส่ ความมุ่งมั่นในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจัง
                      กรมการพัฒนาชุมชน  ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ซึ่งได้พัฒนามุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีภาคีการพัฒนาจากทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายตามหลักการพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานของแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อันจะนำไปสู่
ความอยู่ดีมีสุขของครัวเรือนเป้าหมาย และเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็งสามารถใช้เป็นหมู่บ้านเป้าหมายและเป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้  ด้วยการสร้างและขยายกิจกรรมของเป้าหมายหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเป้าหมายให้มีองค์ประกอบการพัฒนาครอบคลุมด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ สังคมด้านการเรียนรู้ และด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถจัดการความรู้และพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ในกระบวนการบริหารและจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสามารถผ่านเกณฑ์ประเมินของกระทรวงมหาดไทย
4. ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้
                   หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือก คัดสรร จากปัจจัยพื้นฐานของหมู่บ้านที่คาดว่าหมู่บ้านที่คัดเลือกมานั้นจะเป็นหมู่บ้านที่สามารถดำเนินการขับเคลื่อนโดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฎิบัติจนเป็นวิถีชีวิต โดยเน้นการปฎิบัติตนบนทางสายกลาง เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้ และยั่งยืน จึงได้นำการขับเคลื่อนของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นต้นแบบในการจัดเก็บความรู้ ขั้นตอน เทคนิคการปฏิบัติงาน หรือภูมิปัญญาของคนในหมู่บ้าน มาจัดทำเป็นองค์ความรู้ไม่ให้สูญหาย และให้ง่ายต่อการปฏิบัติตามหรือเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจทั่วๆ ไป ในการปฏิบัติตามและพัฒนาเทคนิคต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานของคนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ และหากนำไปใช้ในหมู่บ้านตนเองจะขับเคลื่อนสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
5.ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา
                   การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครัวเรือนเป้าหมายส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” คิดแค่เพียงเป็นการปลูกผักไว้กิน  มีเหลือกินไว้ขาย  ไม่ได้คิดถึงว่าเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดและแนวทางการปฎิบัติตนในการดำเนินชีวิต โดยเน้นการดำรงชีวิตประจำวันบนทางสายกลาง เพื่อให้สามารถพึงตนเองได้อย่างมีความสุขในทุกสภาพชีวิต  และทุกคนเข้าใจการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฎิบัติจนเป็นวิถีชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง


แนวทางแก้ไข ต้องให้ผู้นำหมู่บ้านและครัวเรือนต้นแบบเป้าหมายเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้อง สามารถนำไปปฎิบัติในชีวิตประจำวันได้จริง เพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตตนเองและครอบครัวอย่างเหมาะสม และเกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งและยั่งยืน
6.ประโยชน์ขององค์ความรู้­
                    สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ประสบผลสำเร็จในหมู่บ้านให้ผู้อื่นได้ศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจะได้ทักษะในการทำงานพัฒนาหมู่บ้านทำให้ง่ายต่อการปฏิบัติเนื่องจากได้มีการลงมือทำจริง ทำให้ผู้สนใจที่จะศึกษาเรียนรู้นำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ให้ประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น  
7.เทคนิคในการปฏิบัติงาน
          1. สร้างความเป็นกันเองกับทุกครัวเรือนโดยใช้มนุษย์สัมพันธ์อันดีงาม
           2. ฝึกอบรมครัวเรือนเป้าหมายตามเกณฑ์ที่กรมฯกำหนด
3.นำผู้นำการพัฒนาหมู่บ้าน/ครัวเรือนเป้าหมายศึกษาดูงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และนำมาพัฒนาหมู่บ้านตามสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านตนเอง
4. ยึดหลักการมีส่วนร่วมในการฝึกอบรมและดำเนินงานขับเคลื่อนหมู่บ้านตามแผนการพัฒนาหมู่บ้าน
5. กระตุ้นการพัฒนาหมู่บ้านโดยให้เกิดจากความต้องการของคนในหมู่บ้านอย่างแท้จริง
6. มีการวัดผลการดำเนินงานโดยประชาคมคนในหมู่บ้านเพื่อวัดความสำเร็จเป็นระยะ
7. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคีภาคส่วนที่มีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาและแลกเปลี่ยนทัศนคติในเวทีประชาคมเพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน

3 ความคิดเห็น: