วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2562

KM : เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยนางสาวรัชดาวรรณ หิรัญยวง


1.ชื่อองค์ความรู้   เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
2.ชื่อเจ้าของความรู้     นางสาวรัชดาวรรณ  หิรัญยวง  ตำแหน่ง เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชนชำนาญงาน
3.องค์ความรู้ที่บ่งชี้   หมวดที่ 2  เทคนิคการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง
4.ที่มาและความสำคัญในการจัดทำองค์ความรู้
            จากนโยบายของกรมการพัฒนาชุมชน พุ่งตรงลงมาให้พื้นที่ข้างล่างดำเนินการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เพื่อให้หมู่บ้านได้ดำเนินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงรัชกาล
ที่ 9 โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี รู้จักการลดรายจ่าย และสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวตัวเอง เป็นภูมิคุ้มกันแบบยั่งยืนเรา ใน ฐานะพัฒนากรประจำ ตำบล ซึ่งชาวบ้านให้เกียรติและตำแหน่งใหม่ว่า “ซุปเปอร์วู๊แมน” เพราะ
ทำได้ทุกอย่าง ก็มีหน้าที่น้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในหลวงรัชกาล  ที่ 9 มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของหมู่บ้านนั้น การปรับแนวคิดของชาวบ้านไม่ใช่เรื่องหมูๆ อย่างที่คิด เพราะเรามาหาแนวร่วม เป็นครัวเรือนต้นแบบ เราได้รับการปฏิเสธอย่างนุ่มนวลพร้อมรอยยิ้มว่า ไม่ค่อยมีเวลามาร่วมการอบรมค่ะ/ครับ เนื่องจากทุกคนเกิดความกลัว เกิดความคิดว่าชีวิต ส่วนตัวต้องเปลี่ยนแปลงไปเพราะความเข้าใจที่ผิด คิดว่าต้องลดรายจ่ายทุกอย่างและการดำเนินชีวิตประจำวันจะไม่เหมือนเดิม เราในฐานะผู้น้อมนำแนวคิดของพระองค์ฯท่าน ต้องมีการปรับแนวคิดและอธิบาย ถึงหลักการ และวิธีการต่าง ๆ ของโครงการ การขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจ-พอเพียงต้นแบบ เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาของพลังชุมชนผู้นำชุมชน องค์กรต่าง ๆ ภายในหมู่บ้าน พร้อมด้วยพลังของภาคีการพัฒนา พลังของครอบครัวพัฒนาและพลังของประชาชนในหมู่บ้าน
โดยน้อมนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต ต่อวิถีชีวิตมีการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาแหล่งรายได้ และ การพัฒนาแผนชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และประชาชนมีการพึ่งพาตัวเองมากที่สุด โดยมีการส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนในระดับตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ดำเนินชีวิตตาม วิถีคนพอเพียง โดยส่งเสริมให้มีกิจกรรมการออม กิจกรรมการรู้รักสามัคคี และกิจกรรมการสืบทอดภูมิปัญญา เพื่อให้วิถีชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้แก่หมู่บ้านอื่นได้
5.ปัญหาที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา
            จากการดำเนินงานตามโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาที่พบในการขับเคลื่อนกิจกรรม คือ
ปรับแนวคิด ทัศนคติ  ซึ่งชาวบ้านคิดว่า ที่เป็นอยู่แบบทุกวันนี้มันก็ดีแล้วสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน จึงได้มีประชุมพูดคุยกันในเวทีแบบเป็นกันเองกับ 30 ครัวเรือนต้นแบบ เพื่อปรับแนวคิด ทัศนคติ โดยให้แต่ละคนพูดถึงสิ่งที่ตนเองหนักใจในการเป็นครัวเรือนต้นแบบเพราะอะไร เมื่อได้รับทราบถึงความในใจของครัวเรือนแล้ว จึงได้มีการพุดคุยในการปรับความคิด ใช้หลักการหยืดหยุ่น วิธีการ ให้ครัวเรือนได้มีความรู้ ความเข้าใจในการขับเคลื่อนกิจกรรม และมีกิจกรรมละลายพฤติกรรม โดยใช้วิธีการเล่นเกมส์ตอบคำถาม และมีการมอบรางวัลให้เป็นเมล็ดผักพันธ์ต่างๆ แต่มีข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อได้เมล็ดพันธ์แล้วต้องนำไปปลูก แล้วให้กินภายในครอบครัว เหลือแล้วแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้าน หรือครัวเรือนต้นแบบด้วยกันพร้อมกับชี้แจงว่า นี่แหละคือเศรษฐกิจพอเพียง สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ และยังมีการแบ่งปันแบบเอื้ออาทร ทำให้เกิดความรักความสามัคคี และการแบ่งปัน การเอื้ออาทร


6.ประโยชน์ขององค์ความรู้
          หลายๆ หมู่บ้านที่ประสบปัญหาการดำเนินงานในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงฯแบบเดียวกัน สามารถนำหลักการและวิธีการไปปรับใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้ต่อไป
7.เทคนิคในการปฎิบัติงาน
1.ผู้นำหมู่บ้านและแกนนำหมู่บ้าน  ผู้นำหมู่บ้าน ต้องรักการเรียนรู้ รู้จักพัฒนาตนเอง และต้องเป็นผู้ที่
เสียสละ อดทนสูง และพร้อมทำเป็นตัวอย่าง เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เป็นเรื่อง
ของการเปลี่ยนแปลงแนวความคิด เพื่อจะได้สามารถขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม
          2.การพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน  คนในชุมชนต้องยึดหลัก พึ่งตนเอง คือ พยายามพึ่งเองก่อนใน
แต่ละครอบครัวต้องมีการบริหารจัดการที่ดี เช่น การจัดทำบัญชีรับ-จ่าย การลดความฟุ่มเฟือย เพื่อให้เรียนรู้ตนเองว่าศักยภาพในการหาได้ และการจ่ายได้เพียงใด เพื่อจะได้ไม่ก่อเกิดหนี้ที่ไม่จำเป็น
          3.การเปลี่ยนแปลงแนวคิด   การเปลี่ยนแปลงความคิดจากเดิมของคนในชุมชน/หมู่บ้าน เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง
ได้ยาก เพราะความเคยชินกับความสะดวกสบาย เมื่อมีการมาใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำให้เกิดความกลัวว่าจะ
ยุ่งยากและลำบาก เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบเดิมๆ มีการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ต้องมีการ
ทดลองทำ ในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย แต่เมื่อได้ทดลองทำแล้วไม่ยุ่งยาก และเกิดผลที่ดี จึงทำให้ความคิดจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเป็นแนวร่วมในการดำเนินกิจกรรมการขับเคลื่อนหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง 
          4.การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน  คนในชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนชุมชน การพัฒนาหมู่บ้าน
ของตนเอง การทำกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน และร่วมมือดำเนินงานขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่ความเข็มแข็งของชุมชน จะต้องใช้หลักประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง
          5.หมู่บ้านมีแผนชุมชน  แผนชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ  เพราะเป็นแผนที่กำหนดการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เป็นเวทีที่ชุมชนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อนำไป     สู่ความเข็มแข็งที่ยั่งยืน
          6.มีแผนงาน/โครงการ และกิจกรรม หมู่บ้านจะต้องมีการขับเคลื่อนกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา โดยเน้นกิจกรรม   ที่คนในชุมชนมีส่วนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน และร่วมประเมินผลกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
          7.มีภาคีการพัฒนา การดำเนินกิจกรรมกิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้องมีภาคีการพัฒนาร่วมมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ โดยมีการบูรณาการงานร่วมกัน โดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง และสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์ภาคประชาชน โดยการประสานยึดเป็นหนึ่งเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น