วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

KM : การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ชุมชน โดย นายสากล รุ่งทอง

ชื่อความรู้  การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ชุมชน
เจ้าของความรู้  นายสากล  รุ่งทอง
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ 
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไพศาลี
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ  การดำเนินงานในแหล่งเรียนรู้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
             เนื่องจากปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินงานในศูนย์การเรียนรู้บางแห่งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งมีปัจจัยบางประการที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละศูนย์ สรุปในภาพรวมได้แก่ การที่ชุมชนไม่เห็นความสำคัญ สถานที่ตั้งห่างไกล ขาดผู้ดูแล ขาดวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ   บุคลากรขาดความเข้าใจ นโยบายผู้บริหารในท้องถิ่นไม่ต่อเนื่อง  ข้อจำกัดด้านงบประมาณ  ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง   ขาดอิสระทางความคิดการจัดกิจกรรม  บริหารจัดการโครงการ  ขาดการสนับสนุนทุน  ทรัพยากร  เวลา ฯลฯ     
    
         ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน มี 5 ขั้นตอน โดยเริ่มจาก รวมหมู่มวล ชวนร่วมคิด สะกิดร่วมทำ ร่วมย้ำสรุปบทเรียน และร่วมรับผลจากการกระทำถ้าวงจรแห่งการเรียนรู้ของชุมชนใดหมุนได้เร็วหรือมีพลวัตสูง แสดงว่าชุมชนนั้นมีพลังการเรียนรู้สูง
         1. รวมหมู่มวล (Aggregation) การจัดการเรียนรู้ในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล และทรงพลัง ต้องเริ่มต้นจากการรวมคนในชุมชนขึ้นเป็นองค์กรชุมชน เพื่อเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง เพื่อรวม พลังใจให้เกิดจิตสำนึกร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการระดมทุนทางสังคมจากภายในชุมชน การรวมคนจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยใช้ความคิดเป็นเครื่องมือในการรวมคนจะสามารถรวมพลังใจของผู้นำจิตวิญญาณได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้คนที่มีคุณภาพ มีพลัง และรวมตัวกันอย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานในขั้นต่อๆ ไปประสบผลสำเร็จ
         2. ชวนร่วมคิด (Complicity) เพื่อระดม ภูมิความคิด โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการระดมสมอง เพื่อระดมความคิด สร้างความเข้าใจร่วมกัน ปรับกระบวนทัศน์ สร้างวิสัยทัศน์ร่วม แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ วิเคราะห์ปัญหาและโอกาสอย่างรอบด้าน จัดลำดับความสำคัญของปัญหา กำหนดแนวทาง วิธีการ และแผนงานในการแก้ปัญหา (เรียนรู้อะไร อย่างไร กับใคร ที่ไหน)
         3. สะกิดร่วมทำ (Participate) เพื่อรวม ภูมิการจัดการดำเนินงานตามแผนงานที่กำหนด โดยใช้การฝึกฝนจากการทดลองปฏิบัติ ใช้การปฏิบัติในพื้นที่จริง กิจกรรมจริง สถานการณ์จริง เสริมด้วยหลักการ ทฤษฎี เทคโนโลยี และระบบการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งการแบ่งบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบทางภาคีการพัฒนาต่างๆ อย่างเหมาะสม ย่อมทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิผล
         4. ร่วมย้ำสรุปบทเรียน (Aggregate) เพื่อสร้าง ภูมิปัญญาโดยเริ่มจากการประเมินตนเอง และประเมินผลงาน โดยผ่านกระบวนการกลุ่มและเครือข่ายการเรียนรู้ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทักษะความรู้ และประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ขององค์กร จากนั้นเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ไปสู่องค์กรชุมชนอื่นๆ
         5. ร่วมรับผลการกระทำ (Affected) เพื่อสร้าง ภูมิจิตใจโดยการยกย่อง ชื่นชม และให้กำลังใจคนที่เสียสละและทำงานให้กับชุมชนและสังคม ทำให้เกิดความภาคภูมิใจและมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน
         การส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ในชุมชน ทำให้มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนที่สมบูรณ์แบบ ประชาชนได้เรียนรู้จากของจริง ทำให้เกิดประสบการณ์โดยตรง เกิดความสนุกสนาน มีเจตคติที่ดีต่อชุมชน และกระบวนการเรียนรู้ เห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดความรักท้องถิ่นและเกิดความรู้ในการอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
          ประเด็นหลักของการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้ชุมชนมีสถานที่ไว้สำหรับให้ประชาชนได้มีแหล่งเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองความต้องการข้อมูลที่จำเป็นในด้านต่างๆอย่างครบถ้วน มีการจัดหมวดหมู่ที่ง่ายต่อการสืบค้น คนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน กระบวนการ ของการพัฒนาแหล่งเรียนรู้
          แนวทางในการส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ คือ รวมหมู่มวล ชวนร่วมคิด สะกิดร่วมทำ ร่วมย้ำสรุปบทเรียน และร่วมรับผลจากการกระทำ เพื่อให้ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ และยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไพศาลี
ที่ว่าการอำเภอไพศาลี ตำบลไพศาลี
อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ ๖๐๒๒๐
เบอร์โทรศัพท์ ๐-๕๖๓๕-๒๔๓๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น